วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ดูทีวีมากตอนเล็กทำเด็กเรียนแย่เมื่อโต


ดูทีวีมากตอนเล็กทำเด็กเรียนแย่เมื่อโต

 
       นักวิจัยเตือนยิ่งเด็กเล็กดูทีวี มากเท่าไหร่ ยิ่งบั่นทอนสุขภาพ ผลการเรียนและพัฒนาการทางสังคมเมื่อพวกเขามีอายุถึง 10 ขวบ นอกจากนี้ยังมีโอกาสมากขึ้นที่เด็กจะถูกเพื่อนในชั้นรังแก
        การศึกษาเด็ก 1,300 คนที่จัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยมอนทรีอัลในแคนาดา พบผลลบต่อเด็กโตจากทุกชั่วโมงที่ดูทีวีขณะยังเล็ก กล่าวคือผลการเรียนแย่ลง และกินอาหารขยะมากขึ้น
        ในการศึกษานี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพัฒนาการเด็กระยะยาวของรัฐ ควิเบก แคนาดา นักวิจัยได้สอบถามพ่อแม่ว่าลูกดูทีวีมากน้อยแค่ไหนขณะอายุ 29 เดือน (2 ปี 5 เดือน) และ 53 เดือน (4 ปี 5 เดือน)
        โดยเฉลี่ยแล้วเด็กอายุ 2 ขวบดูทีวีสัปดาห์ละไม่ถึง 9 ชั่วโมง และไม่ถึง 15 ชั่วโมงสำหรับเด็กอายุ 4 ขวบ
      
        กระนั้น 11% ของเด็ก 2 ขวบ และ 23% ของเด็ก 4 ขวบดูทีวีเกินกว่าจำนวนเวลาสูงสุดที่แนะนำที่วันละ 2 ชั่วโมง
      
        เมื่อกลับมาพบกันอีกครั้งขณะเด็กอายุ 10 ขวบ นักวิจัยขอให้ครูประเมินผลการเรียน พฤติกรรมและสุขภาพ รวมถึงวัดดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) ของเด็ก ซึ่งพบว่ายิ่งดูทีวีมากเท่าไหร่เมื่ออายุ 2 ขวบ เด็กยิ่งมีส่วนร่วมในห้องเรียนน้อยลง ผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ตกต่ำ กิจกรรมทางร่างกายโดยรวมลดลง แต่ดื่มน้ำอัดลมและกินขนมขบเคี้ยวมากขึ้น และดัชนีบีเอ็มไอสูงขึ้น
      
        นอกจากนี้ การดูทีวีมากเกินไปตอนเล็ก ยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะกลายเป็นเหยื่อของเพื่อนร่วมชั้น
      
        การศึกษานี้ถือเป็นการศึกษาชิ้นแรกที่มุ่งที่ผลกระทบจากทีวีที่มีต่อเด็ก เล็ก จากในอดีตที่นักวิจัยมักเลือกกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น
      
        ดร.ลินดา ปากานี จากมหาวิทยาลัยมอนทรีอัลซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารอาร์ไค ฟ์ส ออฟ เพเดียทริกส์ แอนด์ อะโดเลสเซนต์ เมดิซิน กล่าวว่าวัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำหรับพัฒนาการของสมองและรูปแบบพฤติกรรม เช่น การประมวลผลข้อมูล การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจโจทย์คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กระนั้น การดูทีวีไม่ส่งผลต่อทักษะการอ่านแต่อย่างใด
      
        “การดูทีวีนานๆ ระหว่างช่วงเวลานี้อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในอนาคต
      
        “เราควรรู้โดยสามัญสำนึกว่าการดูทีวีไปแย่งเวลาสำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการและภารกิจที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิด พฤติกรรมและการเคลื่อนไหว”





อ้างอิงจาก  :  http://www.baanmuslimah.com/islamichomeschool/node/227#attachments

การนอนหลับส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก


การนอนหลับส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก

 
             ผลการศึกษาในฟินแลนด์ พบว่า การให้เด็กได้นอนหลับอย่างสนิทในยามค่ำคืน จะช่วยลดพฤติกรรมไฮเปอร์แอ็กทีฟที่พบในเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กอยู่นิ่งไม่เป็น และขาดสมาธิ
         นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ รวมถึงสถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งชาติในฟินแลนด์ ได้ศึกษาเรื่องนี้กับเด็กสุขภาพดี 280 คน ซึ่งมีอายุ 7-8 ขวบ โดยให้คุณพ่อคุณแม่กรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนของเด็ก และเฝ้าสังเกตอยู่ 7 วัน ว่า เด็กใช้เวลานอนแต่ละคืนมากน้อยเท่าใด

           นักวิจัยยังให้เด็กใส่อุปกรณ์เพื่อช่วยตรวจวัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งจะเป็นการยืนยันซ้ำอีกครั้งว่า เด็กได้นอนจริง ๆ วันละกี่ชั่วโมง เพราะบางครั้งการเฝ้าสังเกตของพ่อแม่ก็มีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากเด็กอาจเข้านอนแล้ว แต่ยังไม่ได้หลับตาในทันที หรือยังนั่งอ่านหนังสืออยู่บนเตียง

             เมื่อได้ข้อมูลเรื่องการนอนของเด็กแล้ว จากนั้นก็มาถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของเด็ก โดยใช้แบบทดสอบที่ใช้กับเด็กสมาธิสั้น ผลปรากฏว่า เด็กที่ได้นอนคืนละไม่ถึง 7.7 ชั่วโมง แทนที่จะมีอาการง่วงเหงาหาวนอนหรือเซื่องซึม แต่เด็กเหล่านี้กลับกลายเป็นพวกอยู่นิ่งไม่เป็น และซุกซนมากกว่าปกติ ขาดสมาธิในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในทางกลับกัน เด็กที่ได้นอนอย่างเต็มอิ่มในยามค่ำคืน จะมีพฤติกรรมสงบนิ่งและมีสมาธิในการทำกิจกรรมมากขึ้น.


อ้างอิงจาก  :  http://www.baanmuslimah.com/islamichomeschool/node/97