วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คอมพิวเตอร์ : สื่อที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเด็กปฐมวัย

ที่มา  :  บทความจากจุลสารเพื่อนอนุบาล แผนกอนุบาล
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ;
อ้างอิงมาจาก  สื่อเพื่อพัฒนาเด็กไทยวัยเรียนรู้


 พี่ลูกพีช..
          เมื่อวงการศึกษาของเด็กปฐมวัย กำลังตื่นตัวในการจัดการศึกษา เพื่อรองรับโลกยุคข่าวสารไร้พรมแดน การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย จึงเป็นประเด็นที่พูดกันว่า มีความเหมาะสมอย่างไร เด็กมีความพร้อมทางด้านร่างกาย และสติปัญญาเพียงพอที่จะใช้คอมพิวเตอร์หรือยัง ดังนั้นเพื่อเป็น     ข้อมูลสำหรับพิจารณาว่า สื่อคอมพิวเตอร์นั้นจะเป็นสื่อที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเด็กปฐมวัยจริงหรือ เรามาศึกษาและเรียนรู้แนวความคิดที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กๆ ปฐมวัยกันค่ะ
การใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กปฐมวัย
         เด็กจะเรียนรู้กิจกรรมจาก คอมพิวเตอร์ในเรื่องเกี่ยวกับสัญลักษณ์ เพราะในชีวิตประจำวันเด็กก็ใช้สัญลักษณ์จากการสื่อสารด้วยท่าทาง ภาษาในการเล่น และงานศิลปะอยู่แล้ว จึงเห็นว่า เด็กก่อนวัยเรียนควรได้รับประโยชน์จากการใช้คอมพิวเตอร์ด้วย แต่ยังมีผู้วิตกว่า แนวคิดนี้เป็นการเร่งรัดเด็กหรือไม่ คำตอบประการหนึ่งคือ การใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นอันตรายเลย แต่เราก็ควรใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับเด็กตามระดับความสามารถของเขาเป็น สำคัญ
การเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์
         ถ้า เด็กเล่นคอมพิวเตอร์ด้วยความรู้สึกสบายใจ มีความเชื่อมั่น และสนุกกับการเล่นแล้ว เด็กจะพัฒนาการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการมี      ผู้ใหญ่คอยดูแล สนับสนุน ให้กำลังใจ และรู้จักเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมให้เด็ก
         นอกจากนี้ การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน ควรให้เด็กมีโอกาสเลือกเล่นกิจกรรมได้อย่างเสรี โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นมุมหนึ่งของห้องเรียนเช่นเดียวกับมุมไม้บล็อก มุมหนังสือ มุมศิลปะ มุมบ้าน มุมบทบาทสมมติ ฯลฯ จะเอื้อประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ได้ดีกว่าการจัดให้เด็กแยกไปเรียนต่างหาก การจัดมุมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาการทางสังคม เพราะเด็กอาจจะนั่งหน้าจอด้วยกัน พูดคุย ช่วยกันแก้ปัญหา ร่วมกันตัดสินใจ ลองผิดลองถูก อีกทั้งเป็นการพัฒนาสติปัญญาและภาษาได้อย่างดี
การพัฒนาด้านสังคม อารมณ์ และจิตใจ
         จาก การวิจัยพบว่า เด็กอายุ 4 ขวบ สามารถช่วยอธิบายวิธีการแก้ปัญหาให้เพื่อนได้ และสามารถสาธิตให้เพื่อนดูได้ถูกต้อง และจากการสังเกตพบว่า เด็กได้เลียนแบบวิธีการสอนของครูมาช่วยเหลือเพื่อน ดังนั้นครูควรต้องระวังบทบาทขณะสอนเด็กๆ ให้เหมาะสมด้วย
         คอมพิวเตอร์จะช่วยพัฒนาเด็กได้ มากในเรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารและการเรียนรู้ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้นครูอาจช่วยกระตุ้นการทำงานร่วมกัน โดยจัดให้เด็กนั่งเป็นคู่หน้าเครื่อง และชักจูงให้ช่วยกันคิดในการทำงาน โดยไม่ใช่แข่งขันกัน
การพัฒนาด้านทักษะภาษา
         ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับการฝึกการ ท่องจำสำหรับเด็กปฐมวัย จะช่วยเตรียมทักษะการอ่าน เพราะทำให้เด็กจำแนกตัวอักษร จำตัวอักษร และเรียกได้ถูกต้อง ทำให้รู้คำศัพท์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม โปรแกรมสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นได้มีการพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ควรให้เด็กได้รับการฝึกแต่ความจำเท่านั้น ผู้ใหญ่ควรเลือกโปรแกรมที่ใช้การสื่อสารสองทางได้ คือ คอมพิวเตอร์พูดได้ สามารถตอบสนองเด็กได้ ร้องเพลงได้ จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้น
         นอกจากจะมีคอมพิวเตอร์ที่ช่วย เตรียมทักษะด้านการอ่านแล้ว ยังมีโปรแกรมที่ช่วยในเรื่องภาษาเขียนของเด็กด้วย ซึ่งโดยปกติภาษาเขียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ไม่จูงใจในการสื่อสารสำหรับเด็ก แต่ในปัจจุบันนี้มีโปรแกรม Word Processor ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้การสื่อสารสองทาง เด็กจึงเรียนรู้ที่จะแก้ไขได้ด้วยตนเอง ภาษาเขียนของเด็กจึงได้พัฒนาตั้งแต่เริ่มรู้วิธีเขียนที่ถูกต้อง จนถึงขั้น      สื่อสารได้ จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการเขียน ลดปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อนิ้วมือยังไม่แข็งแรง และลดความกังวลใจว่าจะเขียนผิด ถ้าครู คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองให้การสนับสนุนและดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
การพัฒนาด้านคณิตศาสตร์ และการแก้ปัญหา
         เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้ทักษะ คณิตศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับการจำแนกแยกแยะสี รูปทรง ตัวเลข ตลอดจนรู้จักการเรียงลำดับ มิติสัมพันธ์ โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวกระตุ้นได้ดี
         โปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ปฐมวัย ไม่ใช่เป็นโปรแกรมเกี่ยวกับความจำที่เน้นถูก–ผิด เป็นหลักเท่านั้น แต่ควรเป็นโปรแกรมที่ท้าทายในการแก้ปัญหา โดยให้เด็กสามารถสร้างทางเลือก ตัดสินใจ ที่จะหาวิธีในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นการพัฒนาความคิด บทบาทของครูสำหรับเด็ก คือ ครูจะต้องกระตือรือร้นที่จะสนุบสนุนป้อนคำถาม กระตุ้น และสาธิตให้เด็กเกิดความคิด

ข้อควรคำนึงในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับเด็กปฐมวัย
         1) โปรแกรมจะต้องเหมาะสมสำหรับเด็ก การนำโปรแกรมที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมาใช้กับเด็ก เพื่อให้เป็นเด็กอัศจรรย์ (Super Kid) เป็นการสร้างควากดดันให้กับเด็กมากกว่าจะเป็นการเสริมสร้างสติปัญญา
         2) ควบคุมเวลาในการใช้ เพราะเด็กอาจจะเพลิดเพลิน และถ้าเด็กอยู่ใกล้เกินไปจะเสียสายตา จนถึงขั้นตาเสื่อมได้
         3) ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ การเล่นคอมพิวเตอร์ ควรใช้จอของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรงจะดีกว่าการเล่นกับจอทีวี เพราะจอคอมพิวเตอร์เป็นจอที่ละเอียดกว่า และมีการกรองแสงด้วย ซึ่งช่วยถนอมสายตาเด็กได้
         4) ควรสอนเด็กให้รู้จักวิธีการเปิด–ปิดเครื่องและวิธีการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย และรู้จักการถนอมเครื่องด้วย
         การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ไม่ใช่ เรื่องยาก แต่จะนำมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ประเด็นสำคัญอยู่ที่คุณครู คุณพ่อคุณแม่  ผู้ปกครอง ต้องมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบคอบ มีความพร้อมทั้งในแง่ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการสอน และผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก และควรตระหนักว่า คอมพิวเตอร์เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ไม่ใช่เร่งรัดให้เด็กประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนเกินวัย และไม่ควรนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพียงเพื่อเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพราะจะทำให้เด็กในวัยเรียนสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์