วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

คุณค่าศิลปะ 2 (ต่อ)

2. ประตูที่มีผ้าม่านบางเบา
ผ้าม่านบาง ๆ นี้คือสิ่งแวดล้อมที่จัดประสบการณ์ให้เด็ก อยากให้เขาเรียนรู้ คิด ชอบ สนใจ มีคุณลักษณะหรือทัศนคติตามที่คาดหวัง เด็กรับรู้และเลือกที่จะวาดแสดงเรื่องราวตามผ้าม่านผืนนี้ที่ประตูศิลปะของ เขา
ศิลปะเด็กสิ่งแวดล้อมที่จัดประสบการณ์ให้เด็กนี้ได้แก่
2.1 พ่อแม่ โดยการจัดหาหนังสือ นิทาน วิดีโอ มาให้เด็กอ่าน มาเล่าให้เด็กฟัง ดู สอนและส่งเสริมให้เด็กวาดรูปต่าง ๆ ให้รางวัล ชมเชย ยกย่อง
2.2 ครู โดยการจัดประสบการณ์ จัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กเกิดความรู้ ทัศนคติ อยากวาดภาพแสดงเรื่องราวที่เป็นผลจากกิจกรรม ประสบการณ์ แนะนำวิธีวาด จัดอุปกรณ์ เวลา สถานที่ให้นักเรียนวาดภาพ
2.3 สื่อ สื่อต่างๆ ที่เสนอรายการ เช่น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ หน่วยงานต่าง ๆ
ประตูบานนี้ทำให้เห็นผลจากการชี้นำ สั่งสอน ส่งเสริมของสิ่งแวดล้อมที่ตั้งใจชี้ชวนให้เด็กอยากเปิดออกมาอย่างมีจุดประสงค์ เช่น
- แม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ดูภาพประกอบ เพราะอยากให้ลูกเป็นคนดี
- ครูจัดกิจกรรมการสอนเพราะอยากให้เด็กเรียนรู้
- เด็กวาดภาพเพื่อวัดผลการเรียนรู้
- การ์ตูนทีวี มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างกระแสนิยมในหมู่เด็ก ๆ เพื่อผลทางการค้า ส่งเสริมการขาย ขนม หมากฝรั่ง ของเล่น
คุณค่าศิลปะเด็ก อาจจะแสดงออกจากความชอบ ชอบแล้วอยากวาดเพื่อแสดงอารมณ์ความชอบของตนเอง เช่น วาดรูปโดเรมอน อุลตร้าแมน ชินจัง เพราะความน่ารัก เก่ง เท่ ตลก ม่านผืนนี้แสดงให้เห็นบุคลิกของเด็กที่เป็นคนอ่อนไหวต่อการชี้นำ ไม่ชอบคิดเอง ยึดถืออารมณ์เป็นใหญ่ ไม่ค่อยมีความคิดจินตนาการและเหตุผลของตนเอง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เด็กพวกนี้ควรได้รับคำแนะนำและประสบการณ์ที่ชี้นำในทางที่ดี เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะถูกชักจูง ชี้นำ ตกเป็นเหยื่อ ถูกคดโกง เช่น การสร้างกระแสฟุตบอลโลก เด็กจะสนใจ ตั้งแต่การติดตามการถ่ายทอดการแข่งขัน วาดภาพนักฟุตบอล เชียร์ทีมที่ชอบ พ่อแม่อาจภูมิใจว่าเด็กรักกีฬา แต่ต่อมาอาจกลายเป็นความคลั่งไคล้ พนันขันต่อ เป็นหนี้ แก้แค้น โดยไม่มองเหตุผลของการแข่งขันฟุตบอลว่าคือการออกกำลังกายและสันทนาการเป็น สำคัญ
สถาบัน องค์กรต่าง ๆ ครู พ่อ แม่ มีจุดมุ่งหมายที่จะเห็นพัฒนาการของเด็กทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน จึงได้ส่งเสริม ผลักดัน ทุกวิถีทางให้เด็กได้แสดงออก เด็กได้รับทั้งความจริงใจ โอกาสและวัสดุอปุกรณ์ แต่ด้วยความที่บางคนยังไม่กระจ่างในอุดมคติและปรัชญาของศิลปะ จึงส่งเสริมให้เด็กวาดภาพโดยการขาดการไตร่ตรอง วิจารณญาณ ชี้นำให้เด็กเอนไหลไปตามกระแสดังกล่าว เช่น ต้องวาดระบายสีรูปการ์ตูนที่กำหนด ต้องใช้สีที่กำหนด แพงแค่ไหนก็ยินดีซื้อให้ ให้วาดเลียนแบบศิลปินที่มีชื่อเสียง เป็นต้น
ครูบางคนเป็นผู้มีความสามารถ เชี่ยวชาญศิลปะสาขาใดสาขาหนึ่ง เด่นดังฝังใจในแนวทางที่ตนเองถนัด ก็มักมีแนวโน้มที่จะสอนเน้นหนักในแนวทางของตน เด็กคนใดมีความสามารถผลงานเป็นที่ถูกใจก็ยกย่อง ส่งเสริมโดยอาจละเลยเด็กคนอื่นอีกหลาย ๆ คนที่ต้องเสียโอกาสเรียนรู้ ไม่คำนึงถึงพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่มีความเป็นครูศิลปบูรณาการ นักเรียนจำเป็นต้องเปิดประตูที่มีเฉพาะม่านที่มีสี ลาย เรื่องราวเดียวกับที่ครูชอบ ครูถนัด แต่ด้วยความเป็นเด็ก เสมือนผ้าม่านที่บางเบา อาจพลิ้วเผยให้เห็นความเป็นตัวตนของเขาได้บ้าง เช่น ครูถนัดสีน้ำก็จะพร่ำสอนเน้นสีน้ำเป็นพิเศษ เด็กก็พอได้เผยอารมณ์ออกมาด้วยการสะบัดสีบนกระดาษ แล้วอ้างว่าเป็นภาพนามธรรม หลายคนอาจทึ่งหรือชื่นชมว่าเด็กลึกซึ้ง เข้าถึงศิลปะ แต่เขาไม่ได้ฝึกทักษะ ความละเอียดอ่อนหรือเชื่อมโยงกับภูมิความรู้อื่น ความเสื่อมถอยทางปัญญา ทุนนิยม บริโภคนิยม ได้แฝงมากับความสวยงาม น่ารัก แต่เราจะหาภูมิรู้อะไรมาเชือมต่อ อธิบายคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ นิเวศวิทยา ฯลฯ จากภาพที่เด็กเรารับมา เขาจะเอาคุณค่านี้ไปแก้ปัญหา สร้างชาติ ได้อย่างไร
แล้วหากครูที่ถนัดเฉพาะลายไทย สอนเน้นลายไทยให้ตลอด เอาจริงเอาจรัง เคร่งขรึมทำให้น่าศรัทธา ไม่ตลก ชอบยกตัวอย่างลวดลายตามวัด ตามเมรุและโลงศพ นักเรียนคงรู้สึกสยองกับการเรียนศิลปะ เด็กคงไม่อยากมี ไม่อยากเปิดม่านประตูนี้ หรืออยากเลือกผ้าม่านผืนอื่น ๆ ที่พอจะกลมกลืนกับใจของตนดูบ้าง
ที่มาของบทความ : เราเห็นอะไรในศิลปะเด็ก โดย ปริญญา นันตสุข

คุณค่าศิลปะ 1

1. ประตูที่มีผ้าม่านของผู้อื่น
ศิลปะเด็กผู้ใหญ่ และครูหลายคนอยากให้เด็กมีประตูบานนี้ มุ่งหวังให้วาดภาพตามค่านิยม และวิธีการของผู้อื่น นำเอาความคิด ทัศนะ ค่านิยมของผู้อื่นมาเป็นผ้าม่านบังประตูศิลปะของเด็ก ให้สาธารณะชนชื่นชมแต่สิ่งที่ผู้อื่นให้เด็กทำ ไม่คำนึงถึงสภาวะอารมณ์ รสนิยม ทัศนคติ และวุฒิภาวะของเด็ก ใช้สิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นให้เด็กทำงาน เช่น คำสั่ง คะแนน รางวัล การแข่งขัน เป็นต้น โดยที่เด็กยังไม่ได้เรียนรู้คุณค่า ที่มาที่ไปในสิ่งที่วาด เช่น ครูให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาวาดภาพเรื่องยาเสพติดเพื่อส่งเข้าประกวด ซึ่งตามธรรมชาติของเด็กวัยนี้เขาจะสนใจการเล่นสนุกสนาน ยังไม่เคยรับรู้หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือการประกวดวาดภาพระบายสีของสินค้าต่าง ๆ เป็นความพยายามใช้ผ้าม่านให้เด็กได้แสดงออกที่ถูกใจผู้จัดประกวด จึงต้องมีการกำหนดกรอบ หัวข้อ กฎ กติกามาบังคับ เด็กอยากชนะก็ต้องทำตามอย่างนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาจะต้องฝึกฝนอย่างหนัก ต้องมีอุปกรณ์ดี ๆ ครูต้องเคี่ยวเข็ญเด็ก ต้องกะเก็งแนวทางรสนิยมของผู้จัดว่าชอบแนวทางใด ซึ่งมักทำเพื่อจูงใจให้เด็กสนใจสินค้า ภาพพจน์ กิจกรรม หรือรสนิยมที่ผู้จัดต้องการ
ผลงานศิลปะที่มิใช่ตัวตนของเด็ก เห็นได้จากภาพที่ส่งเข้าประกวดหรือชนะการประกวดในบางรายการ เช่น ภาพการละเล่นของเด็กไทย เป็นเด็กหัวจุกนุ่งโจงกระเบนเล่นมอญซ่อนผ้า หรือภาพการต่อต้านยาเสพติด เด็กต้องวาดให้ดูน่ากลัว มีคนติดยาเสพติดผอมหนังหุ้มกระดูก มืดมัวซัว มีไฟเผาผลาญ มีหัวกะโหลก เด็กมัธยมฯ ที่มุ่งมั่นเอาดีทางด้านการประกวดจะต้องฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อรางวัล ชื่อเสียง เด็กระดับประถมฯ ก็ต้องทำอย่างนั้นตามที่ครูหรือผู้ใหญ่คาดหวัง ขณะที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์ความคิด หรือไม่เคยสนใจยาเสพติดเลย บางครั้งต้องวาดภาพอีกซีกด้านหนึ่งของภาพเป็นเรื่องที่ขัดแย้งหรือตรงกัน ข้ามกันกับโทษของยาเสพติด เช่น ภาพบรรยากาศสดใส คนยิ้มแย้ม ออกกำลังกาย ฯลฯ เด็กต้องทุ่มเท มุ่งมั่น ดังนั้นเบื้องหลังภาพเหล่านี้จึงเต็มไปด้วยความหวัง ความขัดแย้ง การแข่งขัน ความเครียด โลภ สะใจ กระหยิ่มยิ้มย่อง หรือเหนื่อย ผิดหวัง ท้อแท้ โกรธเคือง ทุ่มเถียง ฯลฯ
คุณค่าศิลปะภาพ บางภาพงามจับตาแต่แพ้เพราะขนาดไม่เท่ากับที่กำหนด สีไม่เด่นสะดุดตาหรือภาพหัวกะโหลกมันจะดูยิ้ม ๆ น่ารักมากกว่าน่ากลัว เราจะคิดว่าเด็กวาดภาพไม่เก่ง หรือเด็กมองโลกในแง่ดีจึงจะถูกต้อง จะตัดสินให้คนที่มองโลกในแง่ดีเป็นผู้แพ้อย่างนั้นหรือ เด็กอยากชนะการต่อต้านยาเสพติดต้องวาดให้น่ากลัว โหดร้าย มืดมัวซัว วาดเรื่องประเพณีไทยต้องเด็กหัวจุก โจงกระเบน วาดในงานวันวิทยาศาสตร์ต้องมียานอวกาศ ดวงดาว วาดเรื่องเบียร์ต้องวาดให้ดูน่าดื่ม ให้รู้สึกว่าเป็นของจำเป็น คู่ควรกับงานมงคลหรือพิธีสำคัญ ฯลฯ เมื่อกระแสแข่งขันทางการค้ากลายเป็นกระแสหลักในสังคม เห็นการประกวดวาดภาพเป็นการส่งเสริมกิจกรรมเด็กอยู่ ต่อไปเราอาจได้เห็นการประกวดวาดภาพโดยบริษัทจำหน่ายบุหรี่ก็ได้
ม่านที่มีสีจัดจ้าน เข้มข้น หนาหนัก ที่ผู้อื่นเคี่ยวเข็ญพยายามให้เด็กใช้นี้ได้ปิดบังสายตามิให้ใครรู้ว่าเด็ก ที่วาดภาพนี้มีอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ค่านิยมและจินตนาการอย่างไร สิ่งที่แสดงให้เห็นที่ประตูคือม่านที่แสดงเรื่องราวที่ผู้อื่นอยากให้เขา มี อยากให้เขาเป็นในขณะที่เด็กอาจไม่พร้อมทางด้านประสบการณ์ ความรู้ ค่านิยม จินตนาการ ฝีมือและอุปกรณ์ เด็กจึงต้องมุ่งมั่นทำงานอย่างหมกมุ่นกับหัวข้อ เกณฑ์บังคับ ขนาด รูปแบบ การจัดภาพ สัดส่วน แรเงาอ่อนแก่ องค์ประกอบศิลป์ กระดาษ สี พู่กัน ฯลฯ ถ้ามือไม่ถึงสีก็เน่า ดูประดักประเดิด กลัวคนอื่นตำหนิ อยากชนะ กลัวไม่ชนะ เคยชนะมาแล้วก็ถูกจับตามอง หรือคิดว่าคนอื่นจับตามอง แบ่งเขาแบ่งเรา
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือการที่พ่อแม่ หรือครูคาดหวังกับเด็กมากจนเกินไป อยากให้เด็กของตนเก่งเหนือคนอื่น ชนะคนอื่น เด็กต้องแบกความหวังของผู้ใหญ่ หากชนะ พ่อแม่ครูก็ภูมิใจ ได้ผลงาน ได้อวดใคร ๆ เป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง เด็กจะค่อยซึมซึมเอาความเห็นแก่ตัว ไม่เอื้อเฟื้อ ยกตนข่มท่าน ขาดเพื่อนและมีปัญหาทางสังคมไม่มากก็น้อยโดยไม่รู้ตัว
ศิลปินสมัยใหม่นับตั้งแต่กลุ่มคิวบิสม์ กลุ่มเอกซเพรสชั่นนิสม์ กลุ่มบัดดัล กลุ่มจัดวาง หรือกลุ่มเพื่อชีวิต เหล่านี้ล้วนพยายามทิ้งหลักทฤษฎีทางศิลปะที่ฝึกฝนมาตลอดชีวิตเพื่อสร้างผล งานศิลปะสื่อจิตวิญญาณของตนเองโดยเฉพาะ แต่เด็กโชคดีที่ไม่มีเงื่อนไขทางทฤษฎี สำนัก ลัทธิ หรืออิทธิพลต่าง ๆ ทางศิลปะมาเป็นกรอบกั้นความคิด และจิตวิญญาณเขาได้ เขาจึงมีอิสระที่จะวาดหรือแสดงออกอย่างเบิกบานใจ สนุกสนาน การวาดตามใจชอบ วาดเล่น วาดตามพื้นดิน สนาม การเล่นหัวหกก้นขวิดเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกด้วยจิตวิญญาณทางศิลปะของ เด็กทั้งสิ้น หากครูหรือใคร ๆ พยายามยัดเยียดหลักทฤษฎี รูปแบบ หรือสร้างอิทธิพลทางศิลปะให้กับเด็กมากเกินไป เขาจะได้รับรู้เพียงกลางทางของศิลปะโดยเสียโอกาสที่จะได้ค้นพบต้นทางและปลาย ทางของศิลปะที่แท้จริงของตนเอง ต้นทางคือ "ความดี ความงาม ความพอใจ ความจริง ของความเป็นมนุษย์" ความเป็นสัตว์โลกที่มีจิตวิญญาณทางศิลปะ ปลายทางคือแรงขับ(ไฟศิลป์) ที่จะสื่อหรือถ่ายทอดจิตวิญญาณนั้นออกมาเป็นรูปแบบของตนเองที่ชื่นชูจิตใจตน เองและผู้คนได้
ที่มาของบทความ : เราเห็นอะไรในศิลปะเด็ก (ปริญญา นันตสุข)

ศิลปะกับพื้นฐานการศึกษา

         ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การดำรงชีวิตประจำวันของคนที่รีบด่วน เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมในความสับสนวุ่นวายนี้ การให้การศึกษาที่ถูกต้องจะเป็นหนทางในการขจัดความโง่เขลาและความหลงผิดต่าง ๆ ได้
ในวงการศึกษาถือว่า ศิลปะและดนตรี เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อแท้ของกระบวนการศึกษา เพราะศิลปะและดนตรีสามารถพัฒนาเด็กทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และบุคลิกภาพ
การเรียนเกี่ยวกับศิลปะจะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความเข้าใจใน คุณค่าของสุนทรียภาพและการสร้างสรรค์ รู้ค่าของความผูกพันระหว่างชีวิตกับศิลปะ ทำให้เกิดค่านิยมที่ดีต่อศิลปะวัฒนธรรมของชาติ ดังนั้นการเรียนศิลปะจึงมีความสำคัญต่อการศึกษามาก เพราะศิลปะเป็นพื้นฐานของประสบการณ์อื่น และยังสร้างเสริมลักษณะนิสัยให้เด็กมีพฤติกรรมอันดีงามที่พึงประสงค์อีกด้วย
ศิลปะเป็นวิชาที่ยอมรับกันว่า เป็นพื้นฐานทางการศึกษาที่ช่วยพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็ก ๆ อยู่ จะเห็นว่าการเรียนการสอนศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น จะมุ่งเน้นถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กมากกว่าผลงาน ดังจะเห็นว่ากิจกรรมต่าง ๆ ทางศิลปะจะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรงและสัมพันธ์กับการใช้ตา เช่น การปั้นแป้ง ดินน้ำมัน วาดรูป ระบายสี และกิจกรรมอื่น ๆ
เด็กได้ใช้ส่วนต่าง ๆ ของนิ้วมือ แขน ไหล่ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ช่วยทำให้เด็กเกิดพัฒนาการทางด้านร่างกาย เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่และเล็กเป็นอย่างดี ทำให้เด็กสามารถหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ได้ อันจะนำไปสู่การเรียนของเด็กต่อไป
การวาดรูประบายสีก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งช่วยในการทำงาน ประสานกันระหว่างมือและตา เด็กจะรู้จักสี เส้น รูปทรง พื้นผิว และขนาดที่จะต้องพบในชีวิตประจำวันของเขา
การให้เด็กเล่าเรื่องจากภาพที่เขาวาด จะเป็นการฝึกพูดใช้ภาพในการสื่อสาร แสดงจินตนาการ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ลวดลายและเส้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในภาพของเด็กประกอบด้วย เส้นพื้นฐานที่นำไปสู่การเขียนตัวเลข ตัวหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยไม่จำเป็นต้องทำแบบฝึกหัดลีลามือ ขีดเส้นตั้ง เส้นนอนและอื่น ๆ เลย เพราะในการวาดภาพของเด็กจะประกอบด้วยเส้นเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ให้เด็กวาดภาพมาก ๆ นอกจากเด็กจะสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายแล้ว ยังทำให้กล้ามเนื้อมือแข็งแรง สามารถควบคุมการใช้มือและจับดินสอเขียนหนังสือได้ในที่สุด
ที่มาของบทความ : หนังสือศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย โดย สิริพรรณ ตันติรัตน์ไพศาล

พัฒนาการทางศิลปะเด็ก 4-7 ปี

ขั้นเริ่มต้นเขียนภาพให้มีความหมาย (Preschematic Stage) เด็กในขั้นพัฒนาการนี้จะมีอายุประมาณ 4-7 ปี เด็กจะเริ่มเปลี่ยนจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวมาสร้างความสัมพันธ์ของภาพที่ เขียนกับสิ่งแวดล้อม ภาพที่เขียนเริ่มสื่อความหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามขั้นอายุและวุฒิภาวะของเด็ก
พัฒนาการทางศิลปะเด็ก 4-7 ปีเด็ก จะเริ่มแทนด้วยรูปง่าย ๆ ซึ่งมักจะเป็นวงกลมและศีรษะ การพัฒนาจะค่อยเป็นค่อยไป จากหัวกลมมีเส้นดิ่งเป็นขา อันเป็นลักษณะเด่นของพัฒนาการในขั้นนี้ เนื่องจากกิจกรรมที่เด็กทำเสมอ ๆ คือ กิน และเล่น หัวมีปากไว้กินอาหาร และเท้าไว้สำหรับวิ่งเล่น กิจกรรมทั้งสองนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก และเมื่อเด็กโตขึ้นก็สามารถพัฒนาต่อไป มีแขนอยู่ข้างขา หรือหัว และจะค่อย ๆ สมบูรณ์มากขึ้น สัญลักษณ์เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ เพราะเด็กกำลังแสวงหาภาพที่ตนเองพอใจ แม้กระทั่งการเขียนในเวลาเดียวกัน เด็กก็สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดได้ตลอดเวลา
เด็กวาดภาพสิ่งที่เขาสนใจมากกว่าความเป็นจริง หรือสิ่งที่เขารู้ ถึงแม้ว่าเด็กเริ่มสื่อความหมายของภาพได้ แต่การแสดงออกก็ยังเป็นไปในลักษณะที่เด็กเข้าใจ หากพิจารณาพื้นที่ว่างภายในภาพจะพบว่ายังไม่มีระเบียบ สิ่งต่าง ๆ ในภาพไม่สัมพันธ์กัน การระบายสีของสิ่งต่าง ๆ ในภาพจะเป็นไปตามใจชอบ ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง นอกจากสีของสิ่งที่ประทับใจเท่านั้น ที่เด็กอาจใช้ได้ตรงความเป็นจริงและยังไม่รู้จักการออกแบบ
ในช่วงของการเขียนภาพเริ่มมีความหมายนั้นสามารถแบ่งออกตามอายุได้ดังนี้
-อายุประมาณ 4 ปี การวาดภาพมีลักษณะที่พอเข้าใจได้ สามารถเดาได้
-อายุประมาณ 5 ปี เด็กสามารถวาดภาพได้ชัดเจนมากขึ้น รูปที่วาดมักเป็นรูปคน บ้าน หรือต้นไม้ ยังไม่มีการจัดภาพ การใช้สีตามความพอใจไม่คำนึงถึงความเป็นจริง
-อายุประมาณ 6-7 ปี สามารถแสดงออกเป็นภาพได้ชัดเจน แต่มีความแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเด็ก
ลักษณะการวาดภาพของเด็กตามพัฒนาการในขั้นนี้ สังเกตได้จากส่วนประกอบในภาพดังนี้
การวาดภาพคน เด็กจะเขียนวงกลมแทนศีรษะ มีเส้นยาวแทนแขนและขา ยังไม่มีลำตัวในระยะต้น เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น จะแสดงออกเป็นลำตัว และมีรายละเอียดของใบหน้าเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของส่วนนั้น
การใช้สี เด็กจะใช้สีตามอารมณ์ ยังไม่สามารถใช้สีอย่างถูกต้อง เด็กจะใช้สีที่สะดุดตา และความชอบส่วนตัวเป็นหลัก ไม่มีความสัมพันธ์กับความเป็นจริง แต่บางครั้งเด็กอาจใช้สีใดสีหนึ่งตรงกับความเป็นจริง เมื่อเด็กมีความประทับใจสีนั้น ๆ
การใช้พื้นที่ว่าง เด็กยังไม่เข้าใจว่าควรจะวาดภาพตรงส่วนใดจึงจะเหมาะสม ภาพวาดจึงขาดระเบียบ บริเวณพื้นที่ใดว่าง เด็กก็มักจะวาดสิ่งต่าง ๆ ลงในบริเวณนั้น โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่เด็กวาดจะไม่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างเลย
การออกแบบ เด็กยังไม่เข้าใจการออกแบบ จึงยังไม่มีการออกแบบ
คำอธิบายลักษณะพัฒนาการทางศิลปะในด้านการวาดภาพระบายสีขั้นที่สอง ของเด็กอายุ 4-7 ปี ตามหลักทฤษฎีของ วิคเตอร์ โลเวนเฟลด์