วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

คุณค่าศิลปะ 1

1. ประตูที่มีผ้าม่านของผู้อื่น
ศิลปะเด็กผู้ใหญ่ และครูหลายคนอยากให้เด็กมีประตูบานนี้ มุ่งหวังให้วาดภาพตามค่านิยม และวิธีการของผู้อื่น นำเอาความคิด ทัศนะ ค่านิยมของผู้อื่นมาเป็นผ้าม่านบังประตูศิลปะของเด็ก ให้สาธารณะชนชื่นชมแต่สิ่งที่ผู้อื่นให้เด็กทำ ไม่คำนึงถึงสภาวะอารมณ์ รสนิยม ทัศนคติ และวุฒิภาวะของเด็ก ใช้สิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นให้เด็กทำงาน เช่น คำสั่ง คะแนน รางวัล การแข่งขัน เป็นต้น โดยที่เด็กยังไม่ได้เรียนรู้คุณค่า ที่มาที่ไปในสิ่งที่วาด เช่น ครูให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาวาดภาพเรื่องยาเสพติดเพื่อส่งเข้าประกวด ซึ่งตามธรรมชาติของเด็กวัยนี้เขาจะสนใจการเล่นสนุกสนาน ยังไม่เคยรับรู้หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือการประกวดวาดภาพระบายสีของสินค้าต่าง ๆ เป็นความพยายามใช้ผ้าม่านให้เด็กได้แสดงออกที่ถูกใจผู้จัดประกวด จึงต้องมีการกำหนดกรอบ หัวข้อ กฎ กติกามาบังคับ เด็กอยากชนะก็ต้องทำตามอย่างนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาจะต้องฝึกฝนอย่างหนัก ต้องมีอุปกรณ์ดี ๆ ครูต้องเคี่ยวเข็ญเด็ก ต้องกะเก็งแนวทางรสนิยมของผู้จัดว่าชอบแนวทางใด ซึ่งมักทำเพื่อจูงใจให้เด็กสนใจสินค้า ภาพพจน์ กิจกรรม หรือรสนิยมที่ผู้จัดต้องการ
ผลงานศิลปะที่มิใช่ตัวตนของเด็ก เห็นได้จากภาพที่ส่งเข้าประกวดหรือชนะการประกวดในบางรายการ เช่น ภาพการละเล่นของเด็กไทย เป็นเด็กหัวจุกนุ่งโจงกระเบนเล่นมอญซ่อนผ้า หรือภาพการต่อต้านยาเสพติด เด็กต้องวาดให้ดูน่ากลัว มีคนติดยาเสพติดผอมหนังหุ้มกระดูก มืดมัวซัว มีไฟเผาผลาญ มีหัวกะโหลก เด็กมัธยมฯ ที่มุ่งมั่นเอาดีทางด้านการประกวดจะต้องฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อรางวัล ชื่อเสียง เด็กระดับประถมฯ ก็ต้องทำอย่างนั้นตามที่ครูหรือผู้ใหญ่คาดหวัง ขณะที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์ความคิด หรือไม่เคยสนใจยาเสพติดเลย บางครั้งต้องวาดภาพอีกซีกด้านหนึ่งของภาพเป็นเรื่องที่ขัดแย้งหรือตรงกัน ข้ามกันกับโทษของยาเสพติด เช่น ภาพบรรยากาศสดใส คนยิ้มแย้ม ออกกำลังกาย ฯลฯ เด็กต้องทุ่มเท มุ่งมั่น ดังนั้นเบื้องหลังภาพเหล่านี้จึงเต็มไปด้วยความหวัง ความขัดแย้ง การแข่งขัน ความเครียด โลภ สะใจ กระหยิ่มยิ้มย่อง หรือเหนื่อย ผิดหวัง ท้อแท้ โกรธเคือง ทุ่มเถียง ฯลฯ
คุณค่าศิลปะภาพ บางภาพงามจับตาแต่แพ้เพราะขนาดไม่เท่ากับที่กำหนด สีไม่เด่นสะดุดตาหรือภาพหัวกะโหลกมันจะดูยิ้ม ๆ น่ารักมากกว่าน่ากลัว เราจะคิดว่าเด็กวาดภาพไม่เก่ง หรือเด็กมองโลกในแง่ดีจึงจะถูกต้อง จะตัดสินให้คนที่มองโลกในแง่ดีเป็นผู้แพ้อย่างนั้นหรือ เด็กอยากชนะการต่อต้านยาเสพติดต้องวาดให้น่ากลัว โหดร้าย มืดมัวซัว วาดเรื่องประเพณีไทยต้องเด็กหัวจุก โจงกระเบน วาดในงานวันวิทยาศาสตร์ต้องมียานอวกาศ ดวงดาว วาดเรื่องเบียร์ต้องวาดให้ดูน่าดื่ม ให้รู้สึกว่าเป็นของจำเป็น คู่ควรกับงานมงคลหรือพิธีสำคัญ ฯลฯ เมื่อกระแสแข่งขันทางการค้ากลายเป็นกระแสหลักในสังคม เห็นการประกวดวาดภาพเป็นการส่งเสริมกิจกรรมเด็กอยู่ ต่อไปเราอาจได้เห็นการประกวดวาดภาพโดยบริษัทจำหน่ายบุหรี่ก็ได้
ม่านที่มีสีจัดจ้าน เข้มข้น หนาหนัก ที่ผู้อื่นเคี่ยวเข็ญพยายามให้เด็กใช้นี้ได้ปิดบังสายตามิให้ใครรู้ว่าเด็ก ที่วาดภาพนี้มีอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ค่านิยมและจินตนาการอย่างไร สิ่งที่แสดงให้เห็นที่ประตูคือม่านที่แสดงเรื่องราวที่ผู้อื่นอยากให้เขา มี อยากให้เขาเป็นในขณะที่เด็กอาจไม่พร้อมทางด้านประสบการณ์ ความรู้ ค่านิยม จินตนาการ ฝีมือและอุปกรณ์ เด็กจึงต้องมุ่งมั่นทำงานอย่างหมกมุ่นกับหัวข้อ เกณฑ์บังคับ ขนาด รูปแบบ การจัดภาพ สัดส่วน แรเงาอ่อนแก่ องค์ประกอบศิลป์ กระดาษ สี พู่กัน ฯลฯ ถ้ามือไม่ถึงสีก็เน่า ดูประดักประเดิด กลัวคนอื่นตำหนิ อยากชนะ กลัวไม่ชนะ เคยชนะมาแล้วก็ถูกจับตามอง หรือคิดว่าคนอื่นจับตามอง แบ่งเขาแบ่งเรา
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือการที่พ่อแม่ หรือครูคาดหวังกับเด็กมากจนเกินไป อยากให้เด็กของตนเก่งเหนือคนอื่น ชนะคนอื่น เด็กต้องแบกความหวังของผู้ใหญ่ หากชนะ พ่อแม่ครูก็ภูมิใจ ได้ผลงาน ได้อวดใคร ๆ เป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง เด็กจะค่อยซึมซึมเอาความเห็นแก่ตัว ไม่เอื้อเฟื้อ ยกตนข่มท่าน ขาดเพื่อนและมีปัญหาทางสังคมไม่มากก็น้อยโดยไม่รู้ตัว
ศิลปินสมัยใหม่นับตั้งแต่กลุ่มคิวบิสม์ กลุ่มเอกซเพรสชั่นนิสม์ กลุ่มบัดดัล กลุ่มจัดวาง หรือกลุ่มเพื่อชีวิต เหล่านี้ล้วนพยายามทิ้งหลักทฤษฎีทางศิลปะที่ฝึกฝนมาตลอดชีวิตเพื่อสร้างผล งานศิลปะสื่อจิตวิญญาณของตนเองโดยเฉพาะ แต่เด็กโชคดีที่ไม่มีเงื่อนไขทางทฤษฎี สำนัก ลัทธิ หรืออิทธิพลต่าง ๆ ทางศิลปะมาเป็นกรอบกั้นความคิด และจิตวิญญาณเขาได้ เขาจึงมีอิสระที่จะวาดหรือแสดงออกอย่างเบิกบานใจ สนุกสนาน การวาดตามใจชอบ วาดเล่น วาดตามพื้นดิน สนาม การเล่นหัวหกก้นขวิดเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกด้วยจิตวิญญาณทางศิลปะของ เด็กทั้งสิ้น หากครูหรือใคร ๆ พยายามยัดเยียดหลักทฤษฎี รูปแบบ หรือสร้างอิทธิพลทางศิลปะให้กับเด็กมากเกินไป เขาจะได้รับรู้เพียงกลางทางของศิลปะโดยเสียโอกาสที่จะได้ค้นพบต้นทางและปลาย ทางของศิลปะที่แท้จริงของตนเอง ต้นทางคือ "ความดี ความงาม ความพอใจ ความจริง ของความเป็นมนุษย์" ความเป็นสัตว์โลกที่มีจิตวิญญาณทางศิลปะ ปลายทางคือแรงขับ(ไฟศิลป์) ที่จะสื่อหรือถ่ายทอดจิตวิญญาณนั้นออกมาเป็นรูปแบบของตนเองที่ชื่นชูจิตใจตน เองและผู้คนได้
ที่มาของบทความ : เราเห็นอะไรในศิลปะเด็ก (ปริญญา นันตสุข)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น