การเล่นกับเด็กเป็นสิ่งที่คู่กัน มีผู้ให้คำจำกัดความของการเล่นว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนานแก่เด็ก และยังทำให้เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้ให้แก่เด็ก โดยประสบการณ์ที่เด็กได้จากการเล่นจะนำไปสู่การรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและผู้อื่นได้อย่างมีความ สุข ดังนั้นการเล่นจึงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการพัฒนาความสามารถด้านต่าง ๆ ของเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเมื่อเด็กเติบโตขึ้น
แนวคิดเกี่ยวกับการเล่น
1. การเล่นเป็นโลกส่วนตัวของเด็ก และทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้
2. การเล่นช่วยส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา
3. การเล่น เป็นความต้องการของเด็ก ทั้งการเล่นที่ต้องใช้พละกำลังและชนิดเล่นเงียบๆ เด็ก ต้องการเล่นทั้งแบบธรรมชาติ และตามที่ผู้ใหญ่จัดเตรียมไว้ให้ เด็กต้องการเล่นทั้งในร่มและกลางแจ้ง ต้องการเล่นทั้งตามลำพังและเล่นกับเพื่อน
4. ผู้ใหญ่สามารถส่งเสริมประสบการณ์การเล่นให้แก่เด็กได้
ลักษณะการเล่นของเด็ก
1.การ เล่นของเด็กไม่มีแบบแผน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่รูปแบบของการเล่นจะพัฒนาตามลักษณะของพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย โดย มักพบว่าในระยะแรก การเล่นของเด็กจะเกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัส ต่อมาเมื่อสติปัญญาของเด็กพัฒนา การเล่นจะมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเป็นการเล่นที่ใช้ความสามารถของทักษะในหลาย ๆ แบบร่วมกัน และเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียนเด็กจะมีการเล่นร่วมกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
2. มีการศึกษาพบว่าเด็กอายุ 3 ขวบ จะสนใจเฉพาะกิจกรรมที่ตนเองได้กระทำ แต่พออายุ 5 ขวบ จะสนใจผลงานที่ตนเองทำออกมา
3. การ เล่นแบบสร้างจินตนาการจะมีมากที่สุดในเด็กอายุระหว่าง 5-8 ขวบ ส่วนการเล่นสมมติของเด็ก 4 ขวบ จะเล่นสมมุติเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสัตว์ และสมาชิกในครอบครัว
4. เด็ก มักจะชอบเล่นชนิดที่ใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว เพราะเด็กมักชอบทดสอบพละกำลังกล้ามเนื้อของตน เช่น การกระโดดขาเดียว การเคลื่อนไหวบนท่อนไม้หรือตามขอบบ่อทราย
5. การเล่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเด็ก คือการก่อสร้าง เด็กจะเริ่มรู้จักเก็บและสะสมสิ่งของเพื่อนำมาก่อสร้างหรือประดิษฐ์
6. ความ สนใจในการเล่น ถ้าเป็นของเล่นที่เด็กส่วนใหญ่ชอบมากๆ จะมีระยะเวลาในการเล่นนานแตกต่างกันดังนี้ เด็ก 2 ขวบ นาน 7 นาที เด็ก 3 ขวบนาน 8.9 นาที เด็ก 4 ขวบ นาน 12.3 นาที และเด็ก 5 ขวบ นาน 13.6 นาที
7. การเล่นของเด็กและเวลาที่ใช้ในการเล่นจะลดลงเมื่อเด็กมีอายุเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีหน้าที่ใหม่ๆ ให้เด็กทำมากขึ้น
พฤติกรรมการเล่นของเด็ก
1. การเล่นเลียนแบบ (Imitation) การเล่นเลียนแบบเป็นการสะท้อนให้ผู้อื่นเห็นและทราบถึงการรับรู้สิ่งแวดล้อม ต่างๆ ของเด็กการเล่นเลียนแบบช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว โดยรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส แต่ยังไม่อาจจะเข้าใจหรือความรู้ความหมายได้ในทันที ในการเล่นเลียนแบบเด็กมักจะเล่นเลียนแบบคนที่ตนคุ้นเคย และเห็นว่าสำคัญ สถานการณ์หรือสิ่งที่เด็กนำมาเล่นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเด็กแต่ละคน
2. การสำรวจ(Exploration) เป็นคุณสมบัติประจำวัยของเด็กระยะ 3-6 ปี รากฐานของการเล่นแบบสำรวจ คือมีความสนใจ สงสัย และกระตือรือร้นใคร่รู้ในสิ่งที่อยู่รอบตัว ในการเล่นสำรวจนี้เด็กจะใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ มากกว่าการสัมผัสจับต้องหรือดูเฉยๆ เด็กอาจจับของเล่นกลิ้งไปมา ลองดม หรือฟังว่ามีเสียงมากจากส่วนไหนของเครื่องเล่น และ ค้นหาที่มาของเสียง ด้วยการถอดออกมาดู การเล่นสำรวจนี้จะเป็นพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การค้นพบและการแก้ไขปัญหาใน สถานการณ์ที่เด็กไม่เคยเรียนรู้และมีประสบการณ์มาก่อน
3. การทดสอบ (Testing) เด็กจะอาศัยความรู้ใหม่ที่ได้จากการสำรวจและความรู้จากประสบการณ์ที่คุ้นเคย เป็นพื้นฐาน สิ่งที่เด็กได้สำรวจศึกษาแล้วจะเป็นอุปกรณ์ที่เด็กนำมาเล่นเพื่อทดสอบดูว่า คุณสมบัติของเครื่องเล่นและวิธีการเล่นที่วางไว้จะเป็นไปตามที่เขาคิดหรือ ไม่ อย่างไร และรู้จักแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีความสนใจและพยายามทำให้สำเร็จ คุณค่าของการเล่นทดสอบที่เห็นได้เด่นชัดก็คือส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียน รู้ คิดอย่างมีเหตุผล เหตุและผลจะได้จากการสรุปความสามารถที่เกิดขึ้นจากการทดสอบ และผู้เล่นมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและเป็นการช่วยตนเองด้วย
4. การสร้าง (Construction) เป็นการเล่นที่ผู้เล่นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับ สิ่ง แวดล้อมในลักษณะต่างๆ โดยเด็กจะนำเอาประสบการณ์ต่างๆของตนเข้ามารวมกัน การเล่นชนิดนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของเด็กในการรวบรวมอารมณ์ ความคิด และเหตุผลให้สัมพันธ์กันขึ้นใหม่เพื่อก่อให้เกิดความคิดจินตนาการอย่างสร้าง สรรค์(Creative Imagination) และเพื่อให้เป้าหมายของการกระทำประสบความสำเร็จ
ประโยชน์ของการเล่น
การเล่นมีประโยชน์ต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ซึ่งทำให้เด็กพัฒนาความสามารถด้าน ต่าง ๆ ของชีวิต อันได้แก่
1. ด้านร่างกาย การเล่นเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่ง ซึ่งจะเสริมสร้างความแข็งแรงและพัฒนากล้ามเนื้อ เนื่องจากขณะเล่นเด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้เกิดการพัฒนาความสามารถด้านการเคลื่อนไหวและการเจริญเติบโตของร่างกาย ได้อย่างเต็มที่
2. ด้านจิตใจและอารมณ์ การเล่นทำให้เด็กเกิดจินตนาการ รู้จักคิดและแก้ปัญหา เกิดความคิดสร้างสรรค์ เด็กเกิดความสนุกสนาน ทำให้เกิดการผ่อนคลาย และจะช่วยปรับอารมณ์เมื่อเด็กต้องพบกับสถานการณ์ต่าง ๆ จากการเล่น อีกทั้งทำให้เด็กเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีขึ้น
3. ด้านสังคม การ เล่นกับผู้อื่น จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ผู้คนรอบข้าง รู้จักเหตุและผล ฝึกความอดทน การรอคอย รู้จักการแบ่งปัน รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักปรับตัวที่จะอยู่ในสังคม
4. ด้านภาษา เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะเล่นกับผู้อื่น ความสามารถด้านภาษาจะถูกพัฒนา เพื่อให้เด็กสามารถสื่อสารกับผู้คนรอบข้างได้
5. ด้านการเรียนรู้ ของเล่นและการเล่นแต่ละแบบจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในทักษะที่แตกต่างกัน ไป ของเล่นบางอย่างฝึกความสามารถด้านการเคลื่อนไหว ใน ทางกลับกันบางอย่างอาจฝึกในเรื่องของภาษา ดังนั้นเมื่อเด็กได้เรียนรู้กิจกรรมใหม่ ๆ ความสามารถด้านต่าง ๆ ของชีวิตก็จะถูกพัฒนาเพิ่มขึ้น และจะถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ต่อไปในอนาคต
ลักษณะการเล่นที่เป็นส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก
1. จัดสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ของเล่นและเวลาในการเล่นให้กับเด็ก ได้เล่นอย่างอิสระเสรีตามความคิดและจินตนาการของเด็ก
2. จัดเวลาให้เด็กได้เล่นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่พร้อมและที่ส่งเสริมการเล่นอย่างเหมาะสม
3. ในการจัดหาอุปกรณ์ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุดและมีความ เหมาะสมกับอายุของผู้เล่น
4. ควร ส่งเสริมการเล่นให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็ก เพราะการเล่นที่เกิดจากความสมัครใจ จะทำให้เด็กได้แสดงออกของความสามารถได้อย่างเต็มที่
5. การเล่นที่เหมาะสมควรมีความสอดคล้องตามลำดับขั้นของพัฒนาการทางการเล่นของเด็ก
6. ผู้ ปกครองควรปล่อยให้เด็กได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ในขณะเล่น ควรให้คำแนะนำช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการเท่านั้นและควรสังเกตอยู่ห่างๆ
7. ควรให้ความสนใจกระตือรือร้นซักถาม และมีส่วนร่วมแสดงความยินดีกับเด็กเมื่อเด็กต้องการ
8. ไม่จำเป็นต้องจัดหาของเล่นให้มากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเลือกไม่ถูกว่าจะเล่นอะไรทำให้เกิดความสับสน
9. เมื่อ เด็กมีความสามารถในการเล่นมากขึ้น ควรจัดสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์การเล่นที่ส่งเสริมการเล่นที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เด็กไม่เบื่อ เกิดความท้าทาย ทำให้การพัฒนาทักษะต่าง ๆ ในการเล่นเพิ่มมากขึ้น
10. กระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กรู้จักจัดแสวงหาและสืบค้นด้วยตนเอง รวมทั้งให้เด็กรู้จัก แก้ปัญหาในสถานการณ์การเล่นแบบต่าง ๆ
11. ในขณะเล่นควรให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความรู้สึก ซึ่งจะสังเกตได้จากสีหน้าและ แววตา เพราะการเล่นจะช่วยให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์
12. ไม่ควรคาดหวังในการเล่นของเด็กว่าจะต้องบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้
13. ในเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่นหรือการเล่นที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์มากขึ้น
14. ในเด็กเจ็บป่วย ควรเลือกของเล่นที่เหมาะกับสภาพร่างกาย จิตใจ และความสามารถในการเล่นของเด็กในขณะนั้น
ของเล่นสำหรับเด็ก มีลักษณะดังนี้
1. ของเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นของเด็ก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการ
2. ของเล่นเป็นสื่อกลางในการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ในชีวิต
3. ของเล่นที่เหมาะสมจะส่งเสริมความสามารถและทักษะทางการเคลื่อนไหวที่ดี
หลักในการเลือกของเล่นที่ดี
1. เลือกของเล่นให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก โดยมีหลักการดังนี้
1.1 ผู้ปกครองต้องเข้าใจพฤติกรรมการเล่นของเด็กตามช่วงอายุ
1.2 ผู้ปกครองต้องรู้ความสามารถของเด็ก
1.3 เลือกของเล่นให้ความเหมาะสมกับอายุและพัฒนาการของเด็ก
1.4 เลือกของเล่นให้มีความยากง่ายเหมาะกับพัฒนาการการเล่นของเด็กในแต่ละช่วง อายุ ยกตัวอย่าง ของเล่นที่ง่ายเกินไป จะทำให้เด็กเบื่อ ไม่อยากเล่น ไม่ให้ความสนใจ ของเล่นที่ยากเกินไป จะบั่นทอนความสนใจ ทำให้เด็กรู้สึกท้อถอย
2. คำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้ โดย
2.1 กำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้ของเล่น
2.2 เลือกของเล่นให้สัมพันธ์กับพัฒนาการและวัตถุประสงค์ที่ใช้
2.3 สามารถกระตุ้นความสนใจและทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์
2.4 สามารถใช้ในกิจกรรมการเล่นได้หลายรูปแบบ
2.5 สามารถเล่นได้หลาย ๆ คน เพื่อทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ในการเล่นกับผู้อื่น
2.6 สามารถนำมาเล่นได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม
3. คำนึงถึงส่วนประกอบและวัสดุที่ใช้
3.1 ของเล่นที่ดีต้องมีความสะอาด ปลอดภัย ไม่มีพิษและอันตรายกับเด็ก
3.2 มีความแน่นหนา ไม่หลุดหรือแตกหักง่าย
3.3 ไม่แหลมคม มีความปลอดภัยในการเล่น
3.4 มีขนาดเล็กและเบาเหมาะกับเด็ก ซึ่งทำให้เด็กเล่นได้เองโดยไม่ต้องให้ผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือ
3.5 มีสีสันสดใส เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก แต่ไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก
ของเล่นสำหรับเด็กช่วงวัยต่าง ๆ
ช่วงอายุแรกเกิด - 6 เดือน
- เด็กเริ่มพัฒนาระบบประสาทสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน การแขวนของเล่นที่สดใส แกว่งไกว มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง จะช่วยให้เด็กกรอกสายตา ฝึกการมองเห็นและการฟัง
- ของเล่นของเด็กวัยนี้ : ของเล่นที่มีสีสดใส และมีเสียง
ช่วงอายุ 6 เดือน – 1 ขวบ
- เด็ก วัยนี้เริ่มมีวัตถุประสงค์และทิศทางในการหยิบของเล่น พัฒนาการด้านการประสานสัมพันธ์ระหว่างสายตากับมือพัฒนาขึ้น เด็กรู้จักการสังเกต เริ่มแยกสีและรูปร่างได้ สังเกตความลึกของสิ่งของ เช่น กล่องหรือแก้วได้ ส่งของเล่นจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้ เด็กสามารถทรงตัวนั่งได้มั่นคง และมีการสำรวจสิ่งแวดล้อมโดยการคืบหรือคลาน
- ของเล่นของเด็กวัยนี้ : ของเล่นที่มีสีสัน มีเสียง ขนาดเหมาะกับมือ และของเล่นที่เคลื่อนไหวได้
ช่วงอายุ 1 ปี – 2 ปี
- เด็ก เริ่มเดินได้ด้วยตนเอง โดยช่วงแรก ๆ ยังไม่มั่นคงนัก ชอบเกาะเครื่องเรือน เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง กล้ามเนื้อในการทรงตัว แขนขา มีการพัฒนามากขึ้น เมื่อเดินได้เองจะเริ่มสำรวจสิ่งแวดล้อม ปีนป่าย ขึ้นบันได ต้องระมัดระวังความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด
- ของเล่นสำหรับวัยนี้ : ของเล่นที่ลากจูงไปมาได้ เช่น รถไฟ หรือรถลากต่อ
ช่วงอายุ 2- 4 ปี
- เป็นวัยอยากรู้อยากเห็น เด็กเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น และทรงตัวได้ดี เพราะกล้ามเนื้อแขนขาแข็งแรงมากขึ้น กล้ามเนื้อในมือมีความแข็งแรงมากขึ้น ชอบการเล่นที่มีการออกกำลัง เช่น การวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย เตะลูกบอล
- ของเล่นสำหรับวัยนี้ : ของเล่นที่ใช้นิ้วมือหยิบจับ ของเล่นที่หมุนได้ ภาพตัดต่อ blockไม้ ลูกบอล
ช่วงอายุ 4 – 6 ปี
- การ เคลื่อนไหวของร่างกายคล่องแคล่วขึ้น ชอบเล่นกลางแจ้ง สนามเด็กเล่น และเครื่องเล่นที่ขับขี่ได้ ชอบเล่นเป็นกลุ่มชอบเลียนแบบชีวิตในบ้าน และสังคม สิ่งแวดล้อม
- การเล่นของเด็กวัยนี้ : เน้นการเล่นเป็นกลุ่ม และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างของเล่นและการเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการ
1. พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ จักรยานสองล้อ ลูกบอล ชิงช้า การว่ายน้ำ การห้อยโหน การปีนป่าย เป็นต้น
2. พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ การวาดภาพระบายสี การปั้น การต่อบล๊อคไม้ เป็นต้น
3. พัฒนาการทางภาษา ได้แก่ นิทาน สมุดภาพ รายการโทรทัศน์ เป็นต้น
4. พัฒนาการทางสติปัญญา ได้แก่ ดนตรี การทายปัญหา เกมต่างๆ สมุดภาพ รายการโทรทัศน์ เป็นต้น
5.พัฒนาการทางสังคม ได้แก่ ของเล่นที่ใช้เล่นกับเพื่อนหลายคนได้ เช่น ฟุตบอล จักรยานสองล้อ สนามเด็กเล่น เป็นต้น
http://www.academic.hcu.ac.th/forum/board_posts.asp?FID=297&UID=
อาจารย์วีรยา วงษาพรหม
กลุ่มวิชากายภาพบำบัดทางระบบประสาทและพัฒนาการบกพร่องในเด็ก