วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

การเล่น : ที่ไม่ใช่เล่นๆ

      การเล่นของเด็กมีความสำคัญและอยู่คู่กับเด็กตลอดเวลา  มีผู้ใหญ่อีกเป็นจำนวนมากไม่เข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเล่น  ฉะนั้นก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่อบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนถึงความสำคัญ ของการเล่น  เพื่อผู้ใหญ่จะสนับสนุนส่งเสริมการเล่นในเด็กได้อย่างไร   ถ้าผู้ใหญ่ของไทยเราเข้าใจแล้ว  คงจะช่วยทำให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กไทยมีคุณาภาพขึ้น    ขณะนี้เรามักใช้
ประสบการณ์เดิมๆ  ในการเลี้ยงดูเด็กของเราโดยไม่มีการปรับหรือเปลี่ยนแปลง สำหรับการเล่นใน
เด็กเล็ก มีการวิจัยสามารถอ้างอิงได้ว่า เวลาตื่นตัว  คนเราจะเรียนรู้ได้ดีกว่ายามง่วงเหงาหาวนอนหรือ
ตื่นเต้นเกินไป  อธิบายได้ว่า การกระตุ้นเด็กมากหรือน้อยเกินไป ไม่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว 
               การเล่นสนุกและหัวเราะจะทำให้เด็กมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน พร้อมที่จะรับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ สิ่งใดก็ตามหากเข้ามาตอนที่เด็กมีความเพลิดเพลิน  สิ่งนั้นเด็กจะรับได้ นับว่าเป็นจังหวะให้เด็กได้รู้จักและรับเรื่องราวใหม่ๆ  ได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นเกมต่างๆ  การเล่นชนิดต่างๆทั้งที่เคยเล่นมาแล้ว  หรือการเล่นแปลกใหม่เด็กจะได้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาการให้เขาได้โตเป็น ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ  ดังนั้นปล่อย
ให้เด็กเขาได้เล่นตามวัยและตามโอกาสที่เหมาะสม   ถ้าเขาโตพ้นวัยไปแล้วจะไม่มีโอกาสได้เล่น

แล้วจะมีการพัฒนาได้อย่างไร

เด็กเล็กกับการจัดประสบการณ์ทดลอง

การจัดประสบการณ์ทดลองจะดำเนินการในช่วงกิจกรรมเสริมประสบการณ์   หรือกิจกรรมวงกลม
เน้นการจัดประสบการณ์ให้เด็กได้ฝึกทักษะกระบวนการ  มากกว่าที่จะให้เด็กได้จำเนื้อหา  เน้นการฝึกทักษะกระบวนการทำให้เด็กได้เกิดความรู้ความเข้าใจ  ในเนื้อหาที่ผู้ใหญ่ต้องการที่จะให้เกิดขึ้นเองในตัวเด็ก   เป็นการจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ  จากประสบการณ์ตรง  ค้นคว้าหาวิธีด้วยตนเอง    จากการที่เด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง  ทำให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิด โดยเฉพาะการคิดหาเหตุผล     ทักษะการคิดแก้ปัญหา   นอกจากนั้นทางด้านอารมณ์  จิตใจ    ทำให้เด็กเป็นคน
ละเอียด  รอบคอบ  มานะอดทน  มีระบบของการทำงานที่มีระเบียบวินัย    และช่วยการสร้างเจตคติ
ที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์     ส่วนทางด้านสังคมทำให้เด็กได้มีโอกาสในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

และปลูกฝังการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตยเมือโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

การฝึกทักษะการสังเกตให้กับเด็ก

การที่จะให้เด็กมีทักษะการสังเกตเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่  เด็กจะต้องได้รับการฝึก
ตั้งแต่ยังเล็กอยู่  ดังนั้นครู  พ่อแม่  ผู้ใหญ่  หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กจะต้องจัดประสบ
การณ์ให้เด็กมีทักษะการสังเกต    ทักษะการสังเกตที่จะต้องฝึกให้กับเด็กมีดังนี้
                         1 เด็กจะต้องได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่อง ในการสังเกตสิ่งของบางอย่างเพราะจะได้เห็น
ถึงความแตกต่าง
                         2 ครูหรือผู้ใหญ่จะต้องเตรียมสื่อ  อุปกรณ์ในการฝึกให้พร้อม  มีการออกแบบกิจกรรม
ล่วงหน้า
                         3 การฝึกจะต้องฝึกให้เด็กมีทักษะในการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า  ได้แก่  ตา  หู จมูก
ลิ้น  และกาย
                         4 การฝึกทักษะการสังเกตครั้งแรก  ครูจะต้องทำให้เด็กเกิดความสนใจ  และความ
ตระหนักในสิ่งที่จะสังเกต   ดังนั้นกิจกรรมหรือสิ่งที่ให้สังเกตต้องเริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ  ก่อน แล้วจึง
เป็นสิ่งที่ยากขึ้น
                         5 การสังเกตในแต่ละครั้ง ข้อมูลของการสังเกตเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ  ครูจะต้องส่งเสริมให้เด็กนำมาช่วยในการตัดสินใจเมื่อเด็กจะต้องการแก้ปัญหา
                          การฝึกทักษะให้เด็กได้มีความสามารถในการสังเกตดังตัวอย่างข้างต้นแล้วในชีวิต

ประจำวันของเด็กจะต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและตลอดไป

คุณค่าของกิจกรรมเสรี/ การเล่นตามมุม

              การที่เด็กปฐมวัยมีกิจกรรมการเล่นเสรี  หรือให้เด็กเล่นตามมุมนั้น  มีประโยชน์และมี
คุณค่าสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก สำหรับบางคนที่ไม่เข้าใจถือว่าเป็นการเสียเวลาและไม่เป็นประโยชน์
แก่เด็ก  จึงให้เด็กนั่งเรียนเขียนอ่านเหมือนเด็กโต  คิดว่ายิ่งเรียนมากๆ  จะทำให้เด็กเก่งและเป็นการฝึกให้เด็กได้เรียนเก่งเมื่อโตขึ้น   ความคิดและความเข้าใจดังกล่าวเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ในวัยนี้   เด็กวัยนี้เรียนรู้จากการเล่น กิจกรรมที่ให้เด็กได้ทำนั้นเด็กต้องได้ทำสิ่งที่สนุกเพลิดเพลินไปพร้อมกัน   เด็กจึงจะเกิดการเรียนรู้  กิจกรรมเล่นตามมุมหรือกิจกรรมเสรี  เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระตามมุมเล่นหรือ  มุมประสบการณ์หรือศูนย์การเรียน  ที่จัดไว้ในห้องเรียน   ไม่ว่าจะเป็นมุมหนังสือ   มุมบ้าน  มุมวิทยาศาสตร์   มุมบล็อก  มุมหมอ  เป็นต้น   การให้เด็กได้เข้าเล่นในมุมดังกล่าว  ครูจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเล่นตามความต้องการและความสนใจ    กิจกรรมเสรีนอกจากให้เด็กเล่นตามมุมแล้ว  อาจให้เด็กเลือกทำกิจกรรมที่ผู้สอนจัดขึ้น  อาจเป็นเครื่องเล่นสัมผัส  หรือเกมการศึกษาก็ได้  การให้เด็กได้ทำกิจกรรมเสรี การเล่นตามมุมจึงมีคุณค่าสำหรับเด็ก ดังนั้นครูมีความ
จำเป็นที่ต้องจัดสภาพแวดล้อม  เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมและเหมาะสม   และเข้าใจถึงพัฒนาการ

ของเด็กเป็นสำคัญ

สื่อ วัสดุ ของเล่นจากธรรมชาติสำหรับเด็กปฐมวัย

            สำหรับเด็กปฐมวัยสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่ทำให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้มีความจำเป็นอย่างมาก  ในสภาพของสังคมไทย  เราสามารถหาสิ่งดังกล่าวได้จากธรรมชาติ และจากสภาพแวดล้อมรอบตัวซึ่งให้คุณค่ามากสำหรับเด็ก  สิ่ง
ดังกล่าวที่เป็นวัสดุธรรมชาติ  ได้แก่  ลูกไม้  กิ่งไม้  ใบไม้  เปลือกหอย   ก้อนหิน  ก้อนกรวด    หรือไม่ก็เป็นของเล่นที่รุ่น
ปู่ย่าตายายทำให้กับลูกหลานเล่น  ส่วนใหญ่จะเป็นของที่ทำจากวัสดุพื้นบ้าน   ตุ๊กตาทำจากเศษผ้า   ผ้าฝ้ายบางๆที่นำมา
ย้อมสีต่างๆ   สื่อ วัสดุ  อุปกรณ์  จากธรรมชาตินี้หาได้อย่างง่ายดายในสังคมเมืองไทย  เพราะมีอยู่ตามธรรมชาติโดยเฉพาะ
ในท้องถิ่นตามภูมิภาคของไทยเรา นอกจากมีผลดีเป็นอย่างมากในด้านการประหยัดแล้ว ยังทำให้เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ  การรักษาวัฒนธรรมและประเพณีของไทย  และที่สำคัญคือการส่งเสริมการนำสิ่งดังกล่าวมา

เล่นอย่างสร้างสรรค์ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการคิดของเด็กปฐมวัย



ที่มา :  http://dararat97.blogspot.com/2010/12/blog-post_27.html

พัฒนาการการแสดงออกของเด็กวัย 3-6 ปี

      เด็กวัยอายุ 3-6 ปี มีช่วงความสนใจประมาณ   15 -20 นาที ซึ่งเป็นช่วงที่น้อยมาก
การจัดกิจกรรมให้เด็กได้แสดงออกไม่ควรให้นานเกิน 20 นาที อย่างเช่นการให้เด็กแสดงละคร  การ
แสดงละครเป็นการแสดงออกของเด็กซึ่งเด็กในวัยนี้ชอบแสดงจากนิทาน  จินตนาการ  เพลง  บทกลอน
และประสบการณ์   เด็กยังไม่ความสามารถในด้านการหาเหตุผลอย่างลึกซึ้ง  ดังนั้นตัวละครต่างๆ  ที่มี
บทบาทต้องให้ชัดเจน  การแสดงออกในวัยนี้จะเป็นการแสดงออกโดยการให้เด็กได้เคลื่อนไหวทาง
ร่างกาย  และเด็กสามารถจับจังหวะดนตรีง่ายๆ  และแสดงออกตามจังหวะได้  การทำให้เด็กได้แสดง
ออกในลักษณะของรูปแบบหรือท่าทางตามตัวอย่างเป็นสิ่งที่เด็กทำได้ยาก ดังนั้นการให้เด็กได้แสดง
ออกจึงควรปล่อยให้เด็กมีอิสระที่จะทำท่าใดก็ได้ตามจินตนาการของเด็กเอง  สิ่งที่เด็กทำได้จะเป็น
ประสบการณ์ง่ายๆ  ที่อยู่รอบตัวเด็ก  อย่างเช่นความสามารถในการทำท่าทางเลียนแบบท่าเดินของ
สัตว์  เสียงร้องของสัตว์   สิ่งที่สำคัญในเรื่องดังกล่าวอยู่ที่การเริ่มต้นสร้างความรู้สึกที่ดีแก่เด็ก และ

ความคิดที่เด็กได้คิดด้วยตัวเอง  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กต่อไป

ที่มา  :  http://dararat97.blogspot.com/2011/01/3-6.html

การจัดประสบการณ์แบบบูรณาการในระดับปฐมวัย

การจัดประสบการณ์แบบบูรณาการในระดับปฐมวัย


        แนวทางการจัดประสบการณ์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๔๖ กำหนดให้จัดประสบการณ์ในรูปแบบบูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการเรียนรู้, 2546: 40) คำว่า "บูรณาการ" จึงเป็นคำที่คุ้นเคยสำหรับครู แต่อาจเกิดความเข้าใจที่สับสนว่าการบูรณาการเป็นการนำองค์ความรู้ต่างๆ มากองรวมกัน โดยทึกทักเหมารวมเอาไว้ด้วยกันอย่างไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ และอ้างว่าให้เด็กทำกิจกรรม ทั้งๆ ที่ครูก็ไม่ชัดเจนว่าผสมผสานอะไรไว้ด้วยกัน

        การบูรณาการถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งของการสอน รวมทั้งเป็นปรัชญาในการสอนที่นำเนื้อหาความรู้จากหลายวิชามาสัมพันธ์ที่จุด เดียวกัน (Focus) หรือหัวเรื่อง (Theme) เดียวกัน (วลัย พานิช, 2546: 44) ทั้งนี้ วรนาท รักสกุลไทย (2548: [6-8]) ได้สรุปความหมายของการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการไว้ว่าเป็นการจัดประสบการณ์ ที่นำความรู้ ความคิดรวบยอด ทักษะ และประสบการณ์สำคัญทั้งมวลที่ผู้เรียนจะได้รับในสาระการเรียนรู้ต่างๆ มาเชื่อมโยงผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างมีความหมาย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งเป็นการขจัดความซ้ำซ้อน ความไม่สัมพันธ์ และความไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระดับปฐมวัยศึกษา ซึ่งเน้นการพัฒนาโดยองค์รวม

        เมื่อพิจารณาความหมายของการบูรณาการจะเห็นได้ว่าความรู้ ความคิด และประสบการณ์สำคัญต่างๆ นั้นต่างมีความสัมพันธ์กัน และหน่วยย่อยที่สัมพันธ์กันเหล่านี้เกิดการผสมผสานหลอมรวมจนเกิดเอกลักษณ์ ใหม่ที่มีความเป็นหนึ่งเดียว
        การจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยยึดหลักการบูรณาการที่ว่า หนึ่งแนวคิดเด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายกิจกรรม หนึ่งกิจกรรมสามารถเรียนรู้ได้หลายทักษะและหลายประสบการณ์สำคัญ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2547: 6) การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย ครูจึงควรศึกษาก่อนว่าทักษะ สาระการเรียนรู้ หรือประสบการณ์สำคัญใดที่จะจัดให้กับเด็ก แล้วจึงวางแผนการจัดกิจกรรมต่อไป

        ผู้เขียนขอเสนอตัวอย่างหนึ่งของการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการผ่านหัวเรื่อง "ปีเตอร์แพน" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เด็กๆ ให้ความสนใจ ดังนี้
ที่ชั้น อนุบาล 2/1 โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ เด็กๆ ต่างชื่นชอบที่จะฟังนิทานเรื่องปีเตอร์แพน และจะขอให้ครูอ่านนิทานเรื่องนี้ให้ฟังอย่างต่อเนื่อง ครูจึงนำเรื่อง "ปีเตอร์แพน" มาเป็นหัวเรื่องในการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการโดยยึดตามกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมบูรณาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการจัดประสบการณ์ในระดับ ปฐมวัย ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
        เด็กๆ ได้ร้องเพลง คิดท่าประกอบเพลง ทำท่าประกอบเพลง ซึ่งเพลงที่นำมาใช้ประกอบ ด้วยเพลงเหาะไปบนฟ้า และเพลงปีเตอร์แพน ได้แปลงร่างเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่องปีเตอร์แพน และเคลื่อนไหวประกอบจังหวะตามลักษณะสำคัญของตัวละคร และได้ทำกิจกรรมตามผู้นำ (ผู้นำ
ผู้ตาม) โดยดัดแปลงมาจากตอนที่ตัวละครในเรื่องออกไปตามพวกอินเดียนแดง ฯลฯ

กิจกรรมเสริมประสบการณ์
        เด็กๆ ได้เล่นสมมติจากสถานการณ์ในเรื่อง เช่น ตอนทิงเกอร์เบลอิจฉาเวนดี้ เพื่อนำไปสู่การอภิปรายเรื่องการจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม หรือตอนเวนดี้ไม่ยอมเป็นพวกโจรสลัด เพื่อนำไปสู่การอภิปรายเรื่องการปฏิเสธที่จะทำผิดตามที่ผู้อื่นสั่งให้ทำ ได้เล่นสมมติเป็นอินเดียนแดงทดลองทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องความสามัคคี นอกจากนี้ยังมีการเล่นละครสร้างสรรค์ 5 ฉากสำคัญ คือ เหาะไปบนฟ้า ตามผู้นำ ช่วยไทเกอร์ลิลลี่ ที่ซ่อนของปีเตอร์แพน และกลับบ้านกันโดยเด็กๆ จะต้องแบ่งหน้าที่กันทำ ด้นสดบทละคร และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ฯลฯ

กิจกรรมสร้างสรรค์
        เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมที่ให้เด็กเลือกทำเป็นรายบุคคล ได้แก่ พับหมวกปีเตอร์แพน ดัดลวดเพื่อทำปีกทิงเกอร์เบล วาดนางเงือก และตัดเพื่อนำไปไว้ที่ทะเลสาบนางเงือก พับจระเข้ตัวเล็ก ตัดรูปมือระบายสีเพื่อทำสายรุ้ง ตัดรูปดาวและปั๊มสีเพื่อทำดาวที่ลอนดอนยามค่ำคืน และทำสายคาดศีรษะของอินเดียนแดง ฯลฯ และได้ทำกิจกรรมศิลปะแบบร่วมมือ ได้แก่ การสร้างเนเวอร์แลนด์ซึ่งต้องทำดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆ เรือโจรสลัด หินรูปหัวกะโหลก จระเข้ตัวใหญ่ และการสร้างลอนดอนซึ่งต้องทำภาพเมืองลอนดอนและหอนาฬิกา ฯลฯ

กิจกรรมเสรี
        เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องแสงและเงาผ่านการทำกิจกรรมวาดเงาของตัวละคร เรียนรู้ประโยชน์ของแสงจากการส่องไฟฉายหาตัวละครในกล่องปริศนา ได้เรียนรู้เรื่องเสียงผ่านการทำกลองของอินเดียนแดง ได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของสสารผ่านการทำแพนเค้กรูปหน้าตัวละคร ได้เรียนรู้ภาษาผ่านตัวอักษรล่องหนของอินเดียนแดง ฯลฯ โดยครูจัดกิจกรรมเหล่านี้ตามความคิดของเด็กไว้เป็นตัวเลือกหนึ่งในกิจกรรม เสรี

กิจกรรมกลางแจ้ง
        เด็กๆ ได้เล่นเดินเป็นแถวตามจังหวะมาร์ช โดยร้องเพลงตามผู้นำไปในที่ต่างๆ ในโรงเรียน โดยเล่นสมมติเป็นพวกอินเดียนแดง เด็กๆ เล่นเครื่องเล่นสนามโดยสมมติว่าเครื่องเล่นแต่ละอย่างเป็นสถานที่ต่างๆ ในเรื่องปีเตอร์แพน ฯลฯ

กิจกรรมเกมการศึกษา
        เด็กๆ ได้เล่นเกมจับคู่คำศัพท์ทั้งคำศัพท์เกี่ยวกับฉาก และตัวละคร ในหลายๆ ลักษณะ เช่น ทอยลูกเต๋าแล้วหาบัตรคำศัพท์ นำบัตรคำศัพท์ไปวางคู่กับสิ่งของจริงๆ ที่เด็กสร้างขึ้นในห้องเรียน รวมทั้งเกมอื่นๆ เช่น ลากเส้นหาทางออกให้ทิงเกอร์เบล ฯลฯ
        กิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นซึ่งให้เด็กได้ร้องและทำท่าทางประกอบเพลง เล่นสมมุติ เล่นละครสร้างสรรค์ สนทนาร่วมกัน ทดลอง สร้าง วาด พับ ทำศิลปะแบบร่วมมือ เล่นเกม หรือประกอบอาหาร ล้วนเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ทำให้เด็กกระตือรือร้นใฝ่รู้ใฝ่เรียน และเกิดแรงจูงใจในการเรียน เด็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ครบทุกด้าน รวมทั้งคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดการเรียนรู้ของตนด้วยการเลือกทำกิจกรรมที่สอดคล้อง กับความสนใจ และความสามารถของตน ช่วยเกิดการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งสาระการเรียนรู้ ทักษะ และประสบการณ์สำคัญ ช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการจำและการแก้ปัญหา และช่วยให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้

        อย่างไรก็ตามครูควรตระหนักถึงหลักสำคัญของการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ กล่าวคือความสอดคล้องเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสาระการเรียนรู้ และทักษะต่างๆ

        การที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลายช่วยให้เกิดการตกผลึกทาง ความคิด และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ความรู้ที่ได้ไม่ลบเลือนไปโดยง่าย การนำสาระการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ที่ต้องการให้เด็กฝึกฝนมาเชื่อมโยงไว้ในการสอน การใช้แหล่งเรียนรู้รอบตัว สื่อมีความหลากหลายมีความเพียงพอกับความต้องการของเด็ก และการจัดกิจกรรมที่มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับกลุ่มเด็กและ สภาพแวดล้อม โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่เด็กมากที่สุด


ที่มา  :  http://www.nareumon.com/index.php?option=com_content&task=view&id=3&Itemid=50